วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด 19 ควรฉีดเมื่อใด ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีอัตราเสียชีวิตสูงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยลดความรุนแรงจากการป่วยและการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ และลดการแพร่กระจายโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ได้
จากสถิติผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา 8 ใน 10 คน เป็นผู้ที่มีอายุ มากกว่า 65 ปี และจากข้อมูลการรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ในประเทศไทยพบว่า ผู้มีโรคประจำตัวมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนี้ โรคความดันโลหิตสูง 73%, โรคเบาหวาน 55%, โรคไขมันในเลือดสูง 30%, โรคไตเรื้อรัง 17%, โรคหัวใจ 13%, โรคเลือด 8%, วัณโรค 8%
โรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด 19 เป็นโรคที่ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน และมีกลุ่มอาการคล้ายกัน การป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่โดยการฉีดวัคซีนจะสามารถช่วยลดความสับสนในการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด 19 ได้
จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ร่วมกัน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคร่วมกันถึง 5.92 เท่า ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ จากการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุยังพบอีกว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ได้ และการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด 19 จะช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดการใช้เครื่องช่วยหายใจ และลดระยะเวลาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ด้วย
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด 19 ควรฉีดเมื่อใด และห่างกันอย่างไร?
ช่วงที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ควรรีบฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการป้องกันและลดความรุนแรงของทั้ง 2 โรค โดยแนะนำให้เว้นห่างกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19
ถ้าวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิดมาพร้อมกัน ให้ฉีดวัคซีนโควิดก่อนแล้วอีก 2-4 สัปดาห์ จึงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เลย เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 ที่มีในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลมากพอในกลุ่มอายุนี้