Categories
News

อาหารผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

อาหารผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้ว การทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอาหารที่รับประทานเข้าไปจะส่งผลโดยตรงต่อระดับน้ำตาลในเลือด หากคุณเลือกทานอาหารที่ดีในปริมาณที่เหมาะสม อาหารเหล่านั้นก็ช่วยทำหน้าที่ไม่ต่างกับยารักษาเบาหวาน (ที่รสชาติดีกว่า) เลยทีเดียว

เราจะมาแนะนำ “9 อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรทาน”

1. ข้าวไม่ขัดสี

ข้าวเป็นคาร์โบไฮเดรตที่คนไทยนิยมทานมากที่สุด ดังนั้น หากเลือกชนิดข้าวได้อย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยคุมน้ำตาลได้ง่ายขึ้น

ข้าวไม่ขัดสีจะมีสารอาหารครบถ้วนมากกว่าข้าวขาว เพราะยังไม่สูญเสียสารอาหารที่อยู่บริเวณเปลือก โดยเฉพาะใยอาหาร ซึ่งทำหน้าที่ชลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด แถมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า จึงช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายได้ด้วย

ครั้งหน้าหากคุณไปเดินห้างสรรพสินค้า อย่าลืมมองหาข้าวกล้อง ข้าวหอมนิล หรือข้าวพันธุ์ผสมอย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่ติดบ้านไว้ด้วยนะ

2. ธัญพืช

หากคุณเริ่มเบื่อข้าวแล้ว ธัญพืชก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ดีเหมือนกัน และยังมีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระมากมายไม่แพ้ข้าวเลย

ลองเปลี่ยนมื้อเช้าเป็นข้าวโอ๊ต มื้อว่างเป็นข้าวโพด หรืออาจจะเติมลูกเดือยลงไปในสลัด น้ำเต้าหู นมถั่วเหลือง ก็ช่วยให้คุณได้รับสารอาหารที่ดี และยังมีประโยชน์ในด้านการคุมน้ำตาลอีกด้วย

3. ปลาทู

ปลาทูเป็นปลาที่มีไขมันสูง ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า การทานปลาไขมันสูงจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น แถมไขมันเหล่านี้ยังอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็นชนิดโอเมก้า-3 ซึ่งมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

4. ไข่

ไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูกและเข้าถึงง่าย แถมยังอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีการตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น หรือแปลง่าย ๆ ว่า คุณจะสามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ดีขึ้น และระดับน้ำตาลในเลือดก็จะลดลง

ถึงแม้ว่าไข่จะมีคอเลสเตอรอลที่สูง แต่การกินไข่สัปดาห์ละ 6-12 ฟอง นอกจากจะไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแล้ว ยังช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลที่ดีในเลือด (HDL-cholesterol) อีกด้วย

5. น้ำมันมะกอก

น้ำมันมะกอกเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า-9 รวมถึงวิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานเท่านั้น แต่ยังลดความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ และโรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

หากคุณยังไม่ชินกับกลิ่นและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ อาจจะลองเริ่มจากการใช้น้ำมันมะกอกชนิดไลท์ (Light) ก่อน แต่ถ้าคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว ขอแนะนำให้ลองทานชนิดเอ็กซ์ตราเวอร์จิน (Extra virgin) ไปเลย

6. ถั่ว

ถั่วประเภทนัท (Nut) จำพวกอัลมอนด์ วอลนัท พิสตาชิโอ หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นถั่วที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ แถมใยอาหารสูง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมผู้ป่วยเบาหวานถึงควรทานถั่วเหล่านี้

นอกจากนี้ การบริโภคถั่ววันละ 50-100 กรัม เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน

7. บร็อคโคลี่

ถ้าคุณสามารถทนกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของซัลเฟอร์ในบร็อคโคลี่ได้ คุณจะได้พบกับขุมทรัพย์สารอาหารอยู่ภายใน เพราะบร็อคโคลี่อุดมไปด้วยวิตามินซี ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย แถมยังมีสารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วย

8. สตรอว์เบอร์รี่

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อย่าง สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ อัดแน่นไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก และที่เด่นที่สุดคือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) วิตามินซี และสารโพลีฟีนอล ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานตอบสนองต่ออินซูลินได้ดี และสามารถคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น

สตรอว์เบอร์รี่ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานเพียง 32 กิโลแคลอรี แต่กลับให้ใยอาหารสูงถึง 2 กรัม (คิดเป็น 8% ของความต้องการต่อวัน) หากคุณกำลังมองหาของว่างระหว่างวัน สตรอว์เบอร์รี่ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเหมือนกันนะ

9. โยเกิร์ต

การบริโภคโยเกิร์ตวันละ 2 หน่วยบริโภค (1 หน่วยบริโภค เท่ากับ 1 ถ้วย หรือ 135 กรัม) ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานไปได้ถึง 18%

นอกจากนี้ โยเกิร์ตยังมีแคลเซียมและโปรตีนสูง จึงช่วยทำให้อิ่มท้อง และยังสามารถลดรอบเอวของคุณได้ด้วย แต่ก็ต้องระวังโยเกิร์ตที่มีการแต่งเติมรสชาติด้วย เพราะมักจะมีการเติมน้ำตาลลงไป ซึ่งไม่ดีต่อผู้ป่วยเบาหวานแน่นอน

หากคุณต้องการเพิ่มรสชาติ อาจลองใส่ผลไม้อย่างสตรอว์เบอร์รี่ลงไป หรืออาจจะนำไปทำเป็นสมูธตี้ผลไม้ หรือใส่ในสลัดแทนน้ำสลัดครีมก็ได้เหมือนกัน

และทั้งหมดนี้เป็นอาหารที่เราแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทาน ซึ่งจะเน้นไปที่อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะวิตามิน ใยอาหาร แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ แต่มีน้ำตาลต่ำ เพื่อช่วยในเรื่องการคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีความอันตรายไม่แพ้กัน